วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

มีหนังสือไทยเดิมก่อนลายสือไทยหรือไม่?


           เคยมีผู้เขียนบรรยายไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2510 ว่า ถ้า ลายสือ ไทยนี้บ่มี หมายความว่า หนังสือไทยชนิดนี้ไม่มี แต่คงจะมีหนังสือไทยแบบอื่นอยู่ก่อนแล้ว ในจารึกหลักเดียวกันนี้ได้กล่าวถึง เมืองสุโขทัย 14 ครั้ง ทุกครั้ง ใช้คำ เมืองสุโขทัยนี้ จะตีความว่า มีเมืองสุโขทัยอยู่ก่อนแล้ว แล้วจึงมาตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นมาใหม่กระนั้นหรือ ผู้เขียนเห็นว่า นี้เป็นแต่เพียงชี้เฉพาะ ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษก็คงจะตรงกับ the เท่านั้น มิได้หมายความว่า this เพราะฉะนั้นที่ว่า ลายสือ ไทยนี้บ่มี คงมิได้หมายความว่ามีลายสือไทยอื่นอยู่แล้ว      แต่ผู้เขียนยอมรับว่าอาจจะมีหนังสือของไทยอาหม เกิดขึ้นทางอัสสัมในเวลาใกล้เคียงกับการก่อกำเนิดตัวหนังสือ ในสุโขทัยก็เป็นได้ 

           ประวัติไทยอาหมปรากฏอยู่ในหนังสือบูราณยี คำว่า ยี อาจจะตรงกับ สือ ในลายสือ หรือรากศัพท์เดียวกับ จื่อ ซึ่งใช้อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน แปลว่า จดจำ เช่นได้จื่อจำไว้   บูราณยีบอกประวัติผู้ครองราชย์ มาตั้งแต่ยุคที่นิยมแต่งตำนานเป็นเทพนิยายลงมา ศักราชแรกที่กล่าวถึงคือ พ.ศ. 1733 ส่วนไทยเผ่าอื่นเริ่มมีประวัติศาสตร์เป็นหลักเป็นฐานไม่เก่าไปกว่าคนไทยอาหม   หากเก่ากว่านั้นขึ้นไป จะเป็นเรื่องเทพนิยายแบบพงศาวดารเหนือ หรือตำนานเก่าๆ ของเรา ซึ่งเกี่ยวกับปาฏิหาริย์เป็นส่วนมาก   ประวัติศาสตร์ไทยทุกเผ่ามาเริ่มจดเป็นหลักเป็นฐานในยุคพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้   ผู้เขียนจึงเห็นว่า ตัวหนังสือไทยคงจะเกิดขึ้นต้นยุคสุโขทัยนี้เอง เมื่อมีตัวหนังสือใช้แล้วก็อาจจะจดเรื่องราวย้อนหลังขึ้นไปได้อีกสองสามชั่วคน

           อีกประการหนึ่ง ไม่เคยมีผู้พบจารึกภาษาไทยก่อนยุคสุโขทัยขึ้นไปเลย จริงอยู่เป็นไปได้ว่า คนไทยอาจจะมีตัวอักษรอื่นใช้อยู่ก่อนแล้ว แต่เผอิญจารึกหายไปหมดหรืออาจจะเขียนไว้บนไม้ไผ่ หรือสิ่งอื่นที่ผุพังได้ง่ายก็เป็นได้ แต่ถ้ามีตัวอักษรอื่นอยู่ก่อนแล้ว ตัวอักษรแบบนั้นก็น่าจะปรากฏขึ้นที่ใดที่หนึ่ง เพราะดินแดนตั้งแต่อัสสัมถึงเวียดนามและจนตอนใต้ถึงมลายูมีคนไทยอาศัยอยู่ทั่วไป ทำไมจึงไม่ปรากฏตัวอักษรแบบดังกล่าวเลย ไม่ว่าจะจารึกไว้ในรูปลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น

   ตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแพร่หลายเข้าไปใน ล้านนา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 62 วัดพระยีนว่า พระมหาสุมนเถร นำศาสนาพุทธนิกายรามัญวงศ์ หรือนิกายลังกาวงศ์เก่าเข้าไปในล้านนาเมื่อ พ.ศ.1912 และได้เขียนจารึกด้วยตัวหนังสือสุโขทัยไว้เมื่อ พ.ศ. 1914 ต่อมาตัวหนังสือสุโขทัยนี้ได้เปลี่ยนรูปร่าง และอักขระวิธีไปบ้างกลายเป็นตัวหนังสือฝักขาม และล้านนายังใช้ตัวหนังสือชนิดนี้มาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ 


           เชียงตุงและเมืองที่ใกล้เคียงในพม่ามีศิลาจารึกอักษรฝักขาม ซึ่งดัดแปลงไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอยู่กว่า 10 หลัก เริ่มแต่ศิลาจารึกวัดป่าแดง พ.ศ. 1994 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีจารึกที่เจดีย์อานันทะในพุกามเขียนตัวหนังสือสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. 1910-1940 อยู่หลักหนึ่ง 

           ในประเทศลาวมีจารึกเขียนไว้ที่ผนังถ้ำนางอันใกล้หลวงพระบางด้วยตัวอักษรสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวหนังสือสมัยพระเจ้าลิไทย (พ.ศ. 1890-1911) ส่วนจารึกประเทศลาวหลักอื่นที่เป็นภาษาไทยไม่เก่าไปกว่า พ.ศ. 2030 เลย
         

           ไทขาว ไทดำ ไทแดง เจ้าไท ในตังเกี๋ย ผู้ไทในญวน และลาวปัจจุบันนี้ ยังใช้ตัวอักษรที่กลายไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
           ถ้าคนไทยมีตัวอักษรไทยเดิมอยู่แล้ว ก็คงจะไม่ยอมรับลายสือไทย เข้าไปใช้จนแพร่หลายกว้างขวางไปในหลายประเทศดังกล่าวมาแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากของที่เคยชินแล้วทำได้ยากมาก เป็นต้นว่า เราเคยเขียนคำว่า "น้ำ" บัดนี้ออกเสียงเป็น "น้าม" แต่ก็มิได้เปลี่ยนวิธีเขียนให้ตรงกับเสียง
           ผู้เขียนเห็นว่า ในชั้นแรกเมื่อคนไทยมิได้เป็นชนชั้นปกครอง ก็จำเป็นจะต้องเรียนตัวหนังสือที่ทางราชการบ้านเมืองใช้อยู่ เพื่ออ่านประกาศของทางราชการให้เข้าใจถ้าจะประดิษฐ์ตัวหนังสือขึ้นใช้เอง จะไปบังคับใครให้มาเรียนหนังสือดังกล่าว เมื่อใดคนไทยได้เป็นชนชั้นปกครองขึ้น ก็น่าจะดัดแปลงตัวหนังสือที่ใช้กันอยู่ในถิ่นนั้นมาเป็นตัวหนังสือของไทย เช่น "จ้วง" คนไทยในเมืองจีนคงดัดแปลงตัวหนังสือจีนมาใช้ คนไทยในล้านนาคงจะดัดแปลงตัวหนังสือมอญซึ่งนิยมใช้กันในถิ่นนี้มาก่อน ส่วนพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็น่าจะดัดแปลงตัวหนังสือขอมซึ่งนิยมใช้กันอยู่แถวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแต่เดิม หากมีตัวอักษรไทยเดิมอยู่แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชคงจะทรงใช้ตัวอักษรไทยเดิม หรือทรงดัดแปลงจากนั้นบ้างเล็กน้อยแทนที่จะดัดแปลงจากอักษรขอมเป็นส่วนใหญ่ แท้จริงนั้นมีเค้าเงื่อนอยู่ในพงศาวดารเหนือว่าพ่อขุนรามฯ  ได้ทรงอาศัยนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์ที่เชี่ยวชาญตัวหนังสือชาติต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงไทยยกเว้นแต่จีนเพราะจีนใช้หลักการเขียนหนังสือเป็นรูปภาพ ผิดกับหลักการเขียนเป็นรูปพยัญชนะและสระแบบของไทย รูปอักษรของพ่อขุนรามคำแหงคล้ายตัวหนังสือลังกา บังคลาเทศ ขอม และ เทวนาครี ฯลฯ เป็นต้นว่า ตัว จ ฉ หันหน้าไปคนละทางกับอักษรขอม แต่หันไปทางเดี่ยวกับตัวอังษรลังกาที่มีอยู่ก่อนแล้ว
           สมัยพ่อขุนรามคำแหงยังไม่มีไม้หันอากาศ แต่ใช้พยัญชนะตัวเดียวกันหรือวรรคเดียวกันเขียนติด กัน เช่น อนน แทน อัน และ อฏฐ แทน อัฏฐ
 


           พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นโดยมิได้ทรงทราบว่ามีตัวหนังสือไทยเดิมอยู่ก่อน ข้อพิสูจน์ข้อหนึ่งคือ ไทยอาหมและไทยคำที่ (ขำตี้) ออกเสียงคำ อัน คล้ายกับคำ อาน แต่เสียงสระสั้นกว่า และออกเสียงคำ อัก-อาก อัด-อาด อับ-อาบ เป็นคู่ๆ  กันเหมือนกับตัวหนังสือของเรา โดยออกเสียงคำต้นสั้นกว่าคำหลังในคู่เดียวกัน แต่ออกเสียง อัว ว่า เอา เพราะถือหลักการที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า อัว คือ อาว ที่เสียงสระสั้นลงน่าจะออกเสียงเป็น เอา แต่พ่อขุนรามคำแหงทรงใช้ อวว (คือ อัว) เป็นสระ อัว แทนที่จะเป็น สระ เอา หากคนไทยเคยอ่าน อัว เป็น เอา ซึ่งถูกตามหลักภาษาศาสตร์มาแต่เดิมแล้วคงยากที่จะเปลี่ยนแก้ให้อ่านเป็น อัว ซึ่งขัดกับความเคยชิน ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ตัวหนังสือไทยขึ้น โดยมิได้ทรงทราบว่าตัวหนังสือไทยเดิมอยู่ก่อนแลัว
           พ่อขุนมังรายมหาราช (เป็นพระนามที่ถูกต้องของพระยาเม็งราย) คงจะได้ดัดแปลงตัวอักษรมอญมาใช้เขียนหนังสือไทยในเวลาใกล้เคียงกัน ดังตัวอย่างตัวอักษรในจารึกลานทองสุโขทัย พ.ศ. 1919 
           จ้วง คนไทยในกวางสีประเทศจีนใช้ตัวหนังสือจีนเขียนภาษาจ้วง แสดงว่าเมื่อสุโขทัยและจ้วงแยกจากกัน ยังไม่มีตัวอักษรแบบ กข ใช้ เพราะถ้ามีตัวอักษรไทยเดิมอยู่ จ้วงคงไม่หันไปใช้ตัวหนังสือจีน ซึ่งใช้เรียนมากกว่าตัวหนังสือไทยเป็นสิบๆ ปี
           ส่วนไทยอาหมคงสร้างตัวหนังสือขี้น ในระยะเวลาใกล้เคียงกับตัวหนังสือสุโขทัย ทั้งนี้เพราะคนไทยเพิ่งจะสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่นกว้างขวางออกไปในระยะนั้น อย่างไรก็ดี นักอ่านศิลาจารึกหลายท่าน เชื่อว่า รูปตัวอักษรของไทยอาหมชี้ให้เห็นว่า อักษรไทยอาหมพึ่งเกิดใหม่หลังอักษรพ่อขุนรามคำแหงเป็นระยะเวลานานทีเดียว

 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น